วันพฤหัสบดีที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

หลักเกษตรธรรมชาติ


หลักสำคัญในการทำเกษตรธรรมชาติอย่างหนึ่ง ก็คือ “การเลียนแบบธรรมชาติ”
         ธรรมชาติของต้นไม้ในป่าเมื่อดอก ผล กิ่ง ใบ ร่วงหล่นลงดิน ก็จะมีสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ คอยย่อยสลายเศษซากเหล่านั้นกลับคืนสู่ดิน สะสมเป็นอาหารให้ต้นไม้นำกลับมาหล่อเลี้ยงลำต้น กิ่งก้าน ใบ ดอก ผล ได้ต่อไป
        เปรียบเทียบกับการทำการเกษตรของเราในปัจจุบัน เราเก็บดอกผลไปกิน ไปขาย เป็นการนำอาหารออกไปจากดินทุกปี โดยไม่เคยใส่คืนกลับมา มิหนำซ้ำยังมีการใช้ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้า ส่งผลให้สิ่งมีชีวิตในดินที่ช่วยย่อยสลายซากพืชซากสัตว์ ช่วยสร้างอาหารให้พืชถูกทำลายไปด้วย
        เมื่อดินเสื่อม ดินตาย ผลผลิตก็ลดลง ต้องเพิ่มปุ๋ยเพิ่มยามากขึ้น ราคาผลผลิตก็ไม่แน่นอนขึ้นลงตามกลไกของตลาด ที่คงที่และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ คือ ราคาปุ๋ยและยา ชีวิตเกษตรกรก็กลับเข้าสู่วังวนเดิม ๆ นั่นก็คือ ขาดทุนซ้ำซาก หนี้สินพอกพูน ที่ร้ายกว่านั้นคือสุขภาพที่ทรุดโทรมสะสมจากการใช้สารเคมี
        การนำจุลินทรีย์มาปรับใช้ในกระบวนการผลิตของเกษตรกร จะสามารถช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวได้มาก การนำเอาจุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่ในดินที่มีความอุดมสมบูรณ์มาทำเป็นหัวเชื้อสำหรับนำไปขยายและประยุกต์ใช้ในด้านต่าง ๆ ทั้งการช่วยปรับปรุงบำรุงดินให้ดีขึ้น ควบคุมโรคและแมลงศัตรูพืช คืนสมดุลให้กับธรรมชาติ เกษตรกรจึงไม่มีความจำเป็นต้องใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีอีก ช่วยลดต้นทุนการผลิต ทำให้พึ่งพาตัวเองได้มากขึ้น คุณภาพชีวิตก็ดีขึ้นตามไปด้วย
        การใช้หลักชีววิธีในการปรับปรุงบำรุงดิน ต้องให้เวลาจุลินทรีย์ทำงานพอสมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งดินที่ผ่านการใส่ปุ๋ยใส่สารเคมีมาเป็นระยะเวลานาน ยิ่งต้องใช้ความอดทนเป็นพิเศษ ไม่มีทางที่ช่วงแรก ๆ ผลผลิตจะเพิ่มขึ้นในพริบตา การงดใช้สารเคมีในทันที ผลผลิตก็ต้องลดลงในทันทีเช่นกัน (นี่น่าจะเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้แนวคิดเกษตรยั่งยืนยังไม่เป็นที่ยอมรับของเกษตรกรส่วนใหญ่ในประเทศ พูดยากครับ เป็นเรื่องของมุมมองและวิธีคิด ต้องลองทำเลย ใครทำใครได้ ถือเป็นปฏิบัติปัญญา) แต่เมื่อดินถูกปรับสภาพ ปรับโครงสร้าง จนเหมาะสมสำหรับการเจริญเติบโตของพืชแล้ว เมื่อนั้นผลผลิตก็จะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและคุณภาพ เป็นการเพิ่มขึ้นอย่างยั่งยืน
.        ฉะนั้นถ้าจะเริ่มต้น สิ่งแรกที่ต้องทำก็คือ ส่งจุลินทรีย์กลับบ้าน … กลับคืนสู่ดิน
.        จบครับ … สำหรับหลักการคร่าว ๆ เท่าที่เข้าใจ กลับมาที่สวนดีกว่า ที่นี่เราสร้างบ้านที่น่าอยู่ให้กับจุลินทรีย์ด้วยการใช้ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก คลุมดินด้วยใบไม้ใบหญ้าและอินทรียวัตถุต่างๆ ที่เหลือปล่อยเป็นหน้าที่ของจุลินทรีย์จัดการ ตั้งแต่ตระเตรียมอาหารให้พืช ปรับปรุงบำรุงดินให้สมบูรณ์ ร่วนซุย เหมาะแก่การหยั่งรากชอนไชของพืช ทั้งยังช่วยทำลายเชื้อโรคร้ายในดินซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของโรคต่างๆ ในพืช ทุกวันนี้ผมไม่ได้ใช้ปุ๋ยเคมีแล้วครับ นอกจากธาตุอาหารเสริมบางตัวที่ยังต้องให้ทางใบ
        หลังจากปรับเปลี่ยนวิถีสวนมาเป็นเกษตรธรรมชาติได้สองปี (ยังเป็นแค่ semi-natural farming อยู่ครับยังไม่ pure) ที่เห็นได้ชัดคือ ปัญหาเรื่องแมลงศัตรูพืชน้อยลงไปมาก ไม่ว่าจะเป็นหนอนชอนใบ หนอนม้วนใบ หนอนคืบกินใบ หรือ เพลี้ยต่าง ๆ ที่เคยเป็นเจ้าประจำ แต่ปีนี้ไม่แวะเวียนมาทักทายกันเลย
        น่าจะเป็นผลจากต้นไม้แข็งแรงขึ้น มีภูมิคุ้มกันโรคและแมลง และผลจากการใช้สมุนไพรทดแทนการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชผสมผสานกับการทำงานของจุลินทรีย์ที่ทำให้เหล่าผีเสื้อมวน ผีเสื้อหนอนทั้งหลายไม่วางไข่ หรือวางแล้วไข่ฝ่อไม่ฟักเป็นตัว อีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ คือ สภาพแวดล้อมที่เอื้อให้แมลงศัตรูธรรมชาติจำพวกตัวห้ำ ตัวเบียน มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น เป็นลูกมือช่วยเราห้ำหั่น เบียดเบียน เจ้าพวกแมลงศัตรูพืชทั้งหลายให้ลดน้อยลง จนความเสียหายอยู่ในระดับที่ยอมรับได้
        ขอสดุดีวีรกรรมของเพื่อนสวนทั้งหลายเท่าที่ปรากฏตัวให้เห็น อาทิ นก แมงมุม ตั๊กแตน ด้วงเต่า มวนพิฆาต รวมไปถึงบรรดาต่อ แตน และ มด อาจจะมีอีกหลายชนิดที่ไม่รู้จักและไม่เห็นตัว ยังไงก็ขอขอบคุณทุกชีวิตที่ได้มาอาศัยและช่วยเหลือกัน
        ยังครับยังไม่แฮปปี้เอนดิ้ง ยังมีศัตรูพืชที่สร้างความเสียหายให้สวนผมอยู่ ก็คือ บรรดาแมลงปีกแข็งต่าง ๆ จำพวก แมลงค่อมทอง ด้วงปีกแข็ง ที่มาแทะใบอ่อนลำไยซะพรุนไปหมด พวกนี้สมุนไพรเอาไม่ค่อยอยู่อย่างมากก็หนีไปแต่สักพักก็กลับมาใหม่ อีกอย่างช่วง ก.พ-เม.ย เป็นช่วงระบาดของพวกมันพอดี ถ้าใช้ยาฆ่าแมลงก็แน่นอนว่าตายหมดแน่ครับไม่มีเหลือ รวมไปถึงพรรคพวกเพื่อนสวนแมลงศัตรูธรรมชาติทั้งหลายของผมด้วย ที่ทำได้ในตอนนี้คือใช้ระบบแมนน่วล คือ จับมาหักคอทิ้งที่ละตัวสองตัว ยังดีที่ควบคุมทรงพุ่มเอาไว้ไม่ให้สูงเกิน ๓ เมตร ทำให้ไม่ลำบากมากนักเวลาไล่ล่าพวกมัน
.
ห้องทำงานของจุลินทรีย์
นี่ล่ะครับไอ้ตัวร้าย … แมลงค่อมทอง
ดูมันทำ … ชีวิตช่างรื่นรมย์เสียจริง
นี่อีกตัวครับ … ด้วงปีกแข็ง
.        มานึกดูแล้วก็ผิดที่เราเองนี่แหละที่คิดทำลำไยนอกฤดู พวกแมลงศัตรูพืชทั้งหลายเลยมีอาหารกินตลอดทั้งปี จริง ๆ ช่วงนี้เป็นช่วงที่ลำไยธรรมชาติเริ่มติดผลเท่าหัวไม้ขีดแล้ว แต่ของเรากำลังเร่งให้แตกใบเพื่อสะสมอาหารเตรียมทำนอกฤดู
        นี่คงเป็นผลของการเหยียบเรือสองแคม ปลูกพืชเชิงเดี่ยวแต่ริใช้วิธีธรรมชาติ ทั้งที่จริงแล้วเกษตรธรรมชาติควรมีความหลากหลาย ผสมผสาน และมุ่งหวังเพียงเพื่อการยังชีพ แต่ผมยังมั่นใจอยู่ลึก ๆ ว่า การประยุกต์ศาสตร์ทางการเกษตรรูปแบบต่าง ๆ มาใช้ โดยอยู่บนพื้นฐานของการเคารพนบนอบกับธรรมชาติ น่าจะสร้างความมั่นคงอย่างยั่งยืนให้กับชีวิตได้ แม้ผมจะมุ่งหวังทำการเกษตรในเชิงการค้าเป็นหลักก็ตาม
        คงต้องปวดหัวกันอีกหลายยกล่ะครับกับการใช้ธรรมชาติช่วยฝืนธรรมชาติ

1 ความคิดเห็น:

  1. วิจิตร สำราญอาตม กลุ่มหนองหญ้าน้อย11 กรกฎาคม 2556 เวลา 03:32

    การอิจฉาธรรมชาติเป็นเรื่องไม่ดี ควรปล่อยธรรมชาติไปตามมีตามเกิด

    ตอบลบ