วันพฤหัสบดีที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ศฝก.วัดญาณสังวรารามฯ


ศูนย์ฝึกและพัฒนาอาชีพเกษตรกรรมวัดญาณสังวรารามวรมหาวิหาร
อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
Agricultural Training and Development Centre
at Wat Yanasangvararam Voramahaviharn
Under H.M. The King Initiative



พระราชดำริ
         พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงทราบปัญหาสำคัญต่างๆ ที่เกิดขึ้น  กับเกษตรกรไทย ได้แก่ ปัญหาความยากจน การใช้สารเคมีที่ทำให้เกิดการเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ความล้มเหลวของภาคเกษตรกรรม ซึ่งปัญหาต่างๆ เหล่านั้นล้วนแต่มีผลกระทบร้ายแรงต่อเกษตรกรไทย และฐานะความมั่นคงของชาติเป็นอย่างมาก
           ดังนั้นพระองค์จึงมีพระราชหฤทัยมุ่งมั่นอย่างแท้จริงที่จะส่งเสริมฐานะความเป็นอยู่ของเกษตรกรให้อยู่ในฐานะ "พออยู่ พอกิน ตามควร" รวมทั้ง "การพึ่งพาตนเอง" โดยมีพระราชดำริเกี่ยวกับการพัฒนาในด้านต่างๆ ที่เรียกว่า "โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ" ซึ่งมีอยู่ทั่ว  ทุกภาคของประเทศ






ประวัติความเป็นมา 
        พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภุมิพลอดุลยเดช ได้ทอดพระเนตรเห็นความแห้งแล้งและความยากจนของราษฎรที่อาศัยอยู่ในบริเวณรอบๆพื้นที่วัดญาณสังวรารามวรมหาวิหาร เมื่อปี พ.ศ. 2525 และทรงทราบถึงพระประสงค์ ในการที่จะพัฒนาพื้นที่วัดญาณฯ ของสมเด็จพระญาณสังวราสมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก เมื่อครั้งยังทรงเป็นเจ้าอาวาส วัดญาณสังวรารารามฯ อยู่ในขณะนั้น พระองค์จึงทรงมีพระราชดำริกับคณะที่มาเข้าเฝ้ารับเสด็จให้ร่วมกันพิจารณาจัดและดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่วัดญาณฯ ขึ้น หนึ่งในโครงการดังกล่าวทรงมีพระราชดำรัสให้ หม่อมเจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธ์ องคมนตรีร่วมกับหน่วยงานต่างๆ พิจารณาจัดตั้งสถานที่ฝึกอบรมด้านการเกษตรให้แก่เยาวชน โดยใช้ชื่อว่า "ศูนย์ฝึกอบรมเยาวชนเกษตรวัดญาณสังวราราม อันเนื่องมาจากพระราชดำริ" ซึ่งได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528 มีศูนย์ฝึกและพัฒนาอาชีพราษฎรไทยบริเวณชายแดนจังหวัดปราจีนบุรี (สระแก้ว) เป็นผู้ดำเนินการหลัก
         ต่อมาได้รับการพิจารณาจากคณะรัฐมนตรีให้เป็นสถานศึกษาสังกัดกรมการศึกษานอกโรงเรียน เมื่อปี พ.ศ. 2535 พร้อมกับ ชื่อใหม่คือ "ศูนย์ฝึกและพัฒนาอาชีพเกษตรกรรมวัดญาณสังวรารามวรมหาวิหาร อันเนื่องมาจากพระราชดำริ"
         พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ  สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมงกุฏราชกุมาร  และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมศูนย์ โดยเฉพาะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเสด็จพระราชดำเนินแล้ว   3  ครั้ง คือ
        1) เมื่อวันที่  28  ตุลาคม 2530
        2) เมื่อวันที่  28  มิถุนายน  2531
        3) เมื่อวันที่  22  สิงหาคม  2533
พระราชดำรัส 
        พระราชดำรัสที่พระราชทานให้แก่ศูนย์ฝึกและพัฒนาอาชีพเกษตรกรรมวัดญาณสังวรารามวรมหาวิหาร อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2530
      1. การแก้ปัญหาสภาพดินเสื่อมโทรม และให้ความรู้ด้านการอนุรักษ์ดินและน้ำแก่ราษฎรทั่วไป
      2. การทดลองปลูกพืชที่เหมาะสมกับสภาพดิน
      3. การฝึกอบรมควรเน้นการใช้น้ำอย่างประหยัด
      4. ให้มีการติดตามผลการนำความรู้ไปใช้ของผู้ผ่านการอบรมอย่างสม่ำเสมอ
      5. ให้มีกระบวนการจัดการและการตลาดเพื่อความมั่นใจแก่ผู้เข้ารับการอบรม
      6. การแปรรูปและการถนอมอาหาร ควรจัดเป็นหลักสูตรให้สอดคล้องกับการนำความรู้ไปใช้
      7. หน่อไม้ฝรั่งเป้นพืชที่ควรส่งเสริมชนิดหนึ่งเพราะตลาดต่างประเทศต้องการมาก
      8. ควรจัดเป็นสถานศึกษาเปิดเพื่อให้บริการแก่ราษฎรที่มีความสนใจเข้าชมและศึกษาด้วยตนเอง
      9. ควรขยายจำนวนผู้เข้ารับการอบรมเพิ่มทีละน้อย ไม่ควรใหญ่โตอย่างรวดเร็ว หรือมีปริมาณผู้เข้ารับอบรมมากเกิน

ภูมิหลัง

        เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2528 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริ กับหม่อมเจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธ์ องคมนตรี และนายสุเมธ ตันติเวชกุล ผู้อำนวยการสำนักงาน กปร. ให้ร่วมพิจารณาจัดตั้งสถานฝึกอบรมเยาวชนเกษตร โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้
      1. อยากให้วัดมีบทบาทแบบดั้งเดิม เป็นศูนย์รวมศรัทธาของชุมชนให้ชาวบ้านมาพึ่งได้
      2. โครงการวัดญาณฯ นี้ ควรมีโรงพยาบาลและโรงเรียน หากไม่จัดตั้งโรงเรียนก็ควรตั้งเป็นศูนย์เยาวชนเกษตรแทน โดยเอาลูกศิษย์วัดมาฝึกอบรมวิชาหาความรู้ เพื่อต่อไปจะได้นำไปประกอบอาชีพได้ และในเวลาว่างก็มาปรนนิบัตรพระ และจะได้รับการอบรมด้านศีลธรรมควบคู่ไปด้วย
     3. เมื่อมีการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก (Eastern Seaboard) แล้วความเจริญทางด้านวัตถุจะเข้ามามาก วัดญาณฯ นี้จะเป็นแหล่งสร้างความเจริญทางจิตใจมิให้เสื่อมโทรมไปด้วย
     4. ให้หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ร่วมกันจัดทำแผนงานฝึกอบรมเยาวชนเกษตรในพื้นที่วัดญาณสังวรารามวรมหาวิหาร ในชั้นต้นให้จัดหาเยาวชนเข้ารับการฝึกอบรม ซึ่งควรจะเป็นลูกศิษย์วัด
        หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2528 ณ วัดบวรนิเวศวิหาร สมเด็จพระญาณสังวรได้เชิญหม่อมเจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) และอาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์บางเขน ประชุมร่วมกัน และที่ประชุมก็ได้มอบหมายให้สำนักงาน กปร. รับไปพิจารณาจัดทำแผนงานจัดตั้งสถานฝึกอบรมเยาชนเกษตร
        ต่อมาก็ได้จัดให้มีการประชุมขึ้นอีก 2 ครั้ง คือ เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2529 และ 11 กุมภาพันธ์ 2529 โดยได้มีการจัดให้มีการประชุมภายในร่วมกับหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ในการจัดตั้งสถานฝึกอบรมเยาวชนเกษตรขึ้น ณ ห้องกุฏิท่านสมเด็จพระญาณสังวร วัดบวรนิเวศวิหาร โดยมีสมเด็จพระญาณสังวร ทรงเป็นประธานในที่ประชุม ในการประชุมทั้ง 2 ครั้งดังกล่าว เป็นการประชุมชี้แจงถึงความเป็นมาของศูนย์ฝึกอบรม และบทบาทของแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกรมการศึกษานอกโรงเรียน ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงานเกี่ยวกับศูนย์อบรมเยวชนเกษตรโดยตรง และก็ได้มีการมอบหมายให้แต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไปศึกษาในรายละเอียดในการจัดทำแผนงานและงบประมาณในการดำเนินงานต่อไป
        ในปี 2528 สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) ได้จัดสรรงบประมาณให้แก่กรมชลประทานก่อสร้างอาคารหอพัก ชาย-หญิง จำนวน 2 หลัง อาคารหอประชุมและอเนกประสงค์ 1 หลัง ในพื้นที่ดินของวัดญาณสังวรารามวรมหาวิหาร ด้านหลังโรงพยาบาลวัดญาณสังวราราม จำนวน 60 ไร่ เพื่อจัดเป็นแปลงฝึกหัดและแปลงสาธิต
        ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2529 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์บางเขน วิทยาลัยเกษตรกรรมชลบุรี วิทยาลัยเทคนิคชลบุรี และกรมการศึกษานอกโรงเรียนได้ร่วมกันจัดทำหลักสูตรและฝึกอบรมนักศึกษารุ่นแรกจำนวน 7 คน โดยมอบให้กรมการศึกษานอกโรงเรียน โดยศูนย์ฝึกและพัฒนาอาชีพราษฎรไทยบริเวณชายแดนไทยจังหวัดปราจีนบุรี โดยมี ดร.กล้า สมตระกูล ผู้อำนวยการศูนย์ และนายสมศักดิ์ พดด้วง หัวหน้าฝ่ายวิชาเกษตรกรรมเป็นผู้อำนวยการฝึก

2 ความคิดเห็น:

  1. วิจิตร สำราญอาตม กลุ่มหนองหญ้าน้อย11 กรกฎาคม 2556 เวลา 03:28

    ขอให้ ศฝก.วัดญาณสังวรารามฯ อยู่คู่ภาคตะวันออกตลอดไป

    ตอบลบ
  2. ขอให้ ศฝก.วัดญาณสังวรารามฯ อยู่คู่ภาคตะวันออกตลอดไป ค่ะ

    ตอบลบ