วันเสาร์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2555

วันแม่แห่งชาติ ประจำปี 2555


        เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2555 ผมได้รับมอบหมายจากผู้บริหารให้ไปร่วมกิจกรรมเนื่องในวันแม่แห่งชาติ ประจำปี 2555 โดยเป็นตัวแทนของสถานศึกษา นำบุคลากรร่วมวางพานพุ่มดอกมะลิ ในพิธีถวายเครื่องราชสักการะและพิธีจุดเทียนชัยถวายพระพรชัยมงคล  เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ 12  สิงหาคม  2555  ณ สำนักงานเทศบาลตำบลห้วยใหญ่ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี
        และเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2555 ได้ไปร่วมพิธีลงนามถวายพระพร  เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ 12  สิงหาคม  2555  ณ  ศาลากลางจังหวัดชลบุรี 

วันพฤหัสบดีที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

กศน.อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี นำเกษตรกร เข้าศึกษาดูงานการเกษตรธรรมชาติ


        เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2555 เวลา 11.00 น. กศน.อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี นำเกษตรกร จำนวน 23 คน เข้าศึกษาดูงานด้านการเกษตรธรรมชาติ ณ ศฝก.วัดญาณสังวรารามฯ โดย ท่าน ผอ.กิ่งทอง  ชุ้นสามพราน ผอ.ศฝช.วัดญาณฯ พร้อมด้วย คณะครู เจ้าหน้าที่ ให้การต้อนรับและนำชมแปลงสาธิตการเกษตรธรรมชาติ

วันพฤหัสบดีที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

หลักเกษตรธรรมชาติ


หลักสำคัญในการทำเกษตรธรรมชาติอย่างหนึ่ง ก็คือ “การเลียนแบบธรรมชาติ”
         ธรรมชาติของต้นไม้ในป่าเมื่อดอก ผล กิ่ง ใบ ร่วงหล่นลงดิน ก็จะมีสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ คอยย่อยสลายเศษซากเหล่านั้นกลับคืนสู่ดิน สะสมเป็นอาหารให้ต้นไม้นำกลับมาหล่อเลี้ยงลำต้น กิ่งก้าน ใบ ดอก ผล ได้ต่อไป
        เปรียบเทียบกับการทำการเกษตรของเราในปัจจุบัน เราเก็บดอกผลไปกิน ไปขาย เป็นการนำอาหารออกไปจากดินทุกปี โดยไม่เคยใส่คืนกลับมา มิหนำซ้ำยังมีการใช้ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้า ส่งผลให้สิ่งมีชีวิตในดินที่ช่วยย่อยสลายซากพืชซากสัตว์ ช่วยสร้างอาหารให้พืชถูกทำลายไปด้วย
        เมื่อดินเสื่อม ดินตาย ผลผลิตก็ลดลง ต้องเพิ่มปุ๋ยเพิ่มยามากขึ้น ราคาผลผลิตก็ไม่แน่นอนขึ้นลงตามกลไกของตลาด ที่คงที่และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ คือ ราคาปุ๋ยและยา ชีวิตเกษตรกรก็กลับเข้าสู่วังวนเดิม ๆ นั่นก็คือ ขาดทุนซ้ำซาก หนี้สินพอกพูน ที่ร้ายกว่านั้นคือสุขภาพที่ทรุดโทรมสะสมจากการใช้สารเคมี
        การนำจุลินทรีย์มาปรับใช้ในกระบวนการผลิตของเกษตรกร จะสามารถช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวได้มาก การนำเอาจุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่ในดินที่มีความอุดมสมบูรณ์มาทำเป็นหัวเชื้อสำหรับนำไปขยายและประยุกต์ใช้ในด้านต่าง ๆ ทั้งการช่วยปรับปรุงบำรุงดินให้ดีขึ้น ควบคุมโรคและแมลงศัตรูพืช คืนสมดุลให้กับธรรมชาติ เกษตรกรจึงไม่มีความจำเป็นต้องใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีอีก ช่วยลดต้นทุนการผลิต ทำให้พึ่งพาตัวเองได้มากขึ้น คุณภาพชีวิตก็ดีขึ้นตามไปด้วย
        การใช้หลักชีววิธีในการปรับปรุงบำรุงดิน ต้องให้เวลาจุลินทรีย์ทำงานพอสมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งดินที่ผ่านการใส่ปุ๋ยใส่สารเคมีมาเป็นระยะเวลานาน ยิ่งต้องใช้ความอดทนเป็นพิเศษ ไม่มีทางที่ช่วงแรก ๆ ผลผลิตจะเพิ่มขึ้นในพริบตา การงดใช้สารเคมีในทันที ผลผลิตก็ต้องลดลงในทันทีเช่นกัน (นี่น่าจะเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้แนวคิดเกษตรยั่งยืนยังไม่เป็นที่ยอมรับของเกษตรกรส่วนใหญ่ในประเทศ พูดยากครับ เป็นเรื่องของมุมมองและวิธีคิด ต้องลองทำเลย ใครทำใครได้ ถือเป็นปฏิบัติปัญญา) แต่เมื่อดินถูกปรับสภาพ ปรับโครงสร้าง จนเหมาะสมสำหรับการเจริญเติบโตของพืชแล้ว เมื่อนั้นผลผลิตก็จะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและคุณภาพ เป็นการเพิ่มขึ้นอย่างยั่งยืน
.        ฉะนั้นถ้าจะเริ่มต้น สิ่งแรกที่ต้องทำก็คือ ส่งจุลินทรีย์กลับบ้าน … กลับคืนสู่ดิน
.        จบครับ … สำหรับหลักการคร่าว ๆ เท่าที่เข้าใจ กลับมาที่สวนดีกว่า ที่นี่เราสร้างบ้านที่น่าอยู่ให้กับจุลินทรีย์ด้วยการใช้ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก คลุมดินด้วยใบไม้ใบหญ้าและอินทรียวัตถุต่างๆ ที่เหลือปล่อยเป็นหน้าที่ของจุลินทรีย์จัดการ ตั้งแต่ตระเตรียมอาหารให้พืช ปรับปรุงบำรุงดินให้สมบูรณ์ ร่วนซุย เหมาะแก่การหยั่งรากชอนไชของพืช ทั้งยังช่วยทำลายเชื้อโรคร้ายในดินซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของโรคต่างๆ ในพืช ทุกวันนี้ผมไม่ได้ใช้ปุ๋ยเคมีแล้วครับ นอกจากธาตุอาหารเสริมบางตัวที่ยังต้องให้ทางใบ
        หลังจากปรับเปลี่ยนวิถีสวนมาเป็นเกษตรธรรมชาติได้สองปี (ยังเป็นแค่ semi-natural farming อยู่ครับยังไม่ pure) ที่เห็นได้ชัดคือ ปัญหาเรื่องแมลงศัตรูพืชน้อยลงไปมาก ไม่ว่าจะเป็นหนอนชอนใบ หนอนม้วนใบ หนอนคืบกินใบ หรือ เพลี้ยต่าง ๆ ที่เคยเป็นเจ้าประจำ แต่ปีนี้ไม่แวะเวียนมาทักทายกันเลย
        น่าจะเป็นผลจากต้นไม้แข็งแรงขึ้น มีภูมิคุ้มกันโรคและแมลง และผลจากการใช้สมุนไพรทดแทนการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชผสมผสานกับการทำงานของจุลินทรีย์ที่ทำให้เหล่าผีเสื้อมวน ผีเสื้อหนอนทั้งหลายไม่วางไข่ หรือวางแล้วไข่ฝ่อไม่ฟักเป็นตัว อีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ คือ สภาพแวดล้อมที่เอื้อให้แมลงศัตรูธรรมชาติจำพวกตัวห้ำ ตัวเบียน มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น เป็นลูกมือช่วยเราห้ำหั่น เบียดเบียน เจ้าพวกแมลงศัตรูพืชทั้งหลายให้ลดน้อยลง จนความเสียหายอยู่ในระดับที่ยอมรับได้
        ขอสดุดีวีรกรรมของเพื่อนสวนทั้งหลายเท่าที่ปรากฏตัวให้เห็น อาทิ นก แมงมุม ตั๊กแตน ด้วงเต่า มวนพิฆาต รวมไปถึงบรรดาต่อ แตน และ มด อาจจะมีอีกหลายชนิดที่ไม่รู้จักและไม่เห็นตัว ยังไงก็ขอขอบคุณทุกชีวิตที่ได้มาอาศัยและช่วยเหลือกัน
        ยังครับยังไม่แฮปปี้เอนดิ้ง ยังมีศัตรูพืชที่สร้างความเสียหายให้สวนผมอยู่ ก็คือ บรรดาแมลงปีกแข็งต่าง ๆ จำพวก แมลงค่อมทอง ด้วงปีกแข็ง ที่มาแทะใบอ่อนลำไยซะพรุนไปหมด พวกนี้สมุนไพรเอาไม่ค่อยอยู่อย่างมากก็หนีไปแต่สักพักก็กลับมาใหม่ อีกอย่างช่วง ก.พ-เม.ย เป็นช่วงระบาดของพวกมันพอดี ถ้าใช้ยาฆ่าแมลงก็แน่นอนว่าตายหมดแน่ครับไม่มีเหลือ รวมไปถึงพรรคพวกเพื่อนสวนแมลงศัตรูธรรมชาติทั้งหลายของผมด้วย ที่ทำได้ในตอนนี้คือใช้ระบบแมนน่วล คือ จับมาหักคอทิ้งที่ละตัวสองตัว ยังดีที่ควบคุมทรงพุ่มเอาไว้ไม่ให้สูงเกิน ๓ เมตร ทำให้ไม่ลำบากมากนักเวลาไล่ล่าพวกมัน
.
ห้องทำงานของจุลินทรีย์
นี่ล่ะครับไอ้ตัวร้าย … แมลงค่อมทอง
ดูมันทำ … ชีวิตช่างรื่นรมย์เสียจริง
นี่อีกตัวครับ … ด้วงปีกแข็ง
.        มานึกดูแล้วก็ผิดที่เราเองนี่แหละที่คิดทำลำไยนอกฤดู พวกแมลงศัตรูพืชทั้งหลายเลยมีอาหารกินตลอดทั้งปี จริง ๆ ช่วงนี้เป็นช่วงที่ลำไยธรรมชาติเริ่มติดผลเท่าหัวไม้ขีดแล้ว แต่ของเรากำลังเร่งให้แตกใบเพื่อสะสมอาหารเตรียมทำนอกฤดู
        นี่คงเป็นผลของการเหยียบเรือสองแคม ปลูกพืชเชิงเดี่ยวแต่ริใช้วิธีธรรมชาติ ทั้งที่จริงแล้วเกษตรธรรมชาติควรมีความหลากหลาย ผสมผสาน และมุ่งหวังเพียงเพื่อการยังชีพ แต่ผมยังมั่นใจอยู่ลึก ๆ ว่า การประยุกต์ศาสตร์ทางการเกษตรรูปแบบต่าง ๆ มาใช้ โดยอยู่บนพื้นฐานของการเคารพนบนอบกับธรรมชาติ น่าจะสร้างความมั่นคงอย่างยั่งยืนให้กับชีวิตได้ แม้ผมจะมุ่งหวังทำการเกษตรในเชิงการค้าเป็นหลักก็ตาม
        คงต้องปวดหัวกันอีกหลายยกล่ะครับกับการใช้ธรรมชาติช่วยฝืนธรรมชาติ

อุทยานวิทย์ฯ หว้ากอ เรียนรู้เกษตรธรรมชาติ


เมื่อวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๕๕ คณะครูและเจ้าหน้าที่ จาก อุทยานวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้า ณ หว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จำนวน ๗ คน เข้าศึกษาดูงานการจัดการเกษตรธรรมชาติ ณ ศฝก.วัดญาณสังวรารามฯ เพื่อนำองค์ความรู้ไปใช้ในการพัฒนางานด้านวิทยาศาสตร์เพื่อการเกษตรสำหรับถ่ายทอดให้แก่ นักเรียน นักศึกษา และประชาชนผู้สนใจทั่วไปได้มีโอกาสศึกษาเรียนรู้วิถีเกษตรธรรมชาติ โดยท่าน ผอ.กิ่งทอง  ชุ้นสามพราน ผอ.ศฝก.วัดญาณฯ ได้มอบหมายให้ท่านรองฯ ไพจิตร  คงแก้ว รอง ผอ.ศฝก.วัดญาณฯ ให้การต้อนรับคณะผู้เข้าศึกษาดูงาน และมีครูกิตติพร  สุขประสงค์  ครู คศ.๑ และครูจิรภัทร  นามพุทธา  ครูผู้ช่วย ร่วมต้อนรับและนำชมแปลงสาธิตเกษตรธรรมชาติ

ศฝก.วัดญาณสังวรารามฯ


ศูนย์ฝึกและพัฒนาอาชีพเกษตรกรรมวัดญาณสังวรารามวรมหาวิหาร
อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
Agricultural Training and Development Centre
at Wat Yanasangvararam Voramahaviharn
Under H.M. The King Initiative



พระราชดำริ
         พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงทราบปัญหาสำคัญต่างๆ ที่เกิดขึ้น  กับเกษตรกรไทย ได้แก่ ปัญหาความยากจน การใช้สารเคมีที่ทำให้เกิดการเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ความล้มเหลวของภาคเกษตรกรรม ซึ่งปัญหาต่างๆ เหล่านั้นล้วนแต่มีผลกระทบร้ายแรงต่อเกษตรกรไทย และฐานะความมั่นคงของชาติเป็นอย่างมาก
           ดังนั้นพระองค์จึงมีพระราชหฤทัยมุ่งมั่นอย่างแท้จริงที่จะส่งเสริมฐานะความเป็นอยู่ของเกษตรกรให้อยู่ในฐานะ "พออยู่ พอกิน ตามควร" รวมทั้ง "การพึ่งพาตนเอง" โดยมีพระราชดำริเกี่ยวกับการพัฒนาในด้านต่างๆ ที่เรียกว่า "โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ" ซึ่งมีอยู่ทั่ว  ทุกภาคของประเทศ






ประวัติความเป็นมา 
        พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภุมิพลอดุลยเดช ได้ทอดพระเนตรเห็นความแห้งแล้งและความยากจนของราษฎรที่อาศัยอยู่ในบริเวณรอบๆพื้นที่วัดญาณสังวรารามวรมหาวิหาร เมื่อปี พ.ศ. 2525 และทรงทราบถึงพระประสงค์ ในการที่จะพัฒนาพื้นที่วัดญาณฯ ของสมเด็จพระญาณสังวราสมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก เมื่อครั้งยังทรงเป็นเจ้าอาวาส วัดญาณสังวรารารามฯ อยู่ในขณะนั้น พระองค์จึงทรงมีพระราชดำริกับคณะที่มาเข้าเฝ้ารับเสด็จให้ร่วมกันพิจารณาจัดและดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่วัดญาณฯ ขึ้น หนึ่งในโครงการดังกล่าวทรงมีพระราชดำรัสให้ หม่อมเจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธ์ องคมนตรีร่วมกับหน่วยงานต่างๆ พิจารณาจัดตั้งสถานที่ฝึกอบรมด้านการเกษตรให้แก่เยาวชน โดยใช้ชื่อว่า "ศูนย์ฝึกอบรมเยาวชนเกษตรวัดญาณสังวราราม อันเนื่องมาจากพระราชดำริ" ซึ่งได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528 มีศูนย์ฝึกและพัฒนาอาชีพราษฎรไทยบริเวณชายแดนจังหวัดปราจีนบุรี (สระแก้ว) เป็นผู้ดำเนินการหลัก
         ต่อมาได้รับการพิจารณาจากคณะรัฐมนตรีให้เป็นสถานศึกษาสังกัดกรมการศึกษานอกโรงเรียน เมื่อปี พ.ศ. 2535 พร้อมกับ ชื่อใหม่คือ "ศูนย์ฝึกและพัฒนาอาชีพเกษตรกรรมวัดญาณสังวรารามวรมหาวิหาร อันเนื่องมาจากพระราชดำริ"
         พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ  สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมงกุฏราชกุมาร  และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมศูนย์ โดยเฉพาะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเสด็จพระราชดำเนินแล้ว   3  ครั้ง คือ
        1) เมื่อวันที่  28  ตุลาคม 2530
        2) เมื่อวันที่  28  มิถุนายน  2531
        3) เมื่อวันที่  22  สิงหาคม  2533
พระราชดำรัส 
        พระราชดำรัสที่พระราชทานให้แก่ศูนย์ฝึกและพัฒนาอาชีพเกษตรกรรมวัดญาณสังวรารามวรมหาวิหาร อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2530
      1. การแก้ปัญหาสภาพดินเสื่อมโทรม และให้ความรู้ด้านการอนุรักษ์ดินและน้ำแก่ราษฎรทั่วไป
      2. การทดลองปลูกพืชที่เหมาะสมกับสภาพดิน
      3. การฝึกอบรมควรเน้นการใช้น้ำอย่างประหยัด
      4. ให้มีการติดตามผลการนำความรู้ไปใช้ของผู้ผ่านการอบรมอย่างสม่ำเสมอ
      5. ให้มีกระบวนการจัดการและการตลาดเพื่อความมั่นใจแก่ผู้เข้ารับการอบรม
      6. การแปรรูปและการถนอมอาหาร ควรจัดเป็นหลักสูตรให้สอดคล้องกับการนำความรู้ไปใช้
      7. หน่อไม้ฝรั่งเป้นพืชที่ควรส่งเสริมชนิดหนึ่งเพราะตลาดต่างประเทศต้องการมาก
      8. ควรจัดเป็นสถานศึกษาเปิดเพื่อให้บริการแก่ราษฎรที่มีความสนใจเข้าชมและศึกษาด้วยตนเอง
      9. ควรขยายจำนวนผู้เข้ารับการอบรมเพิ่มทีละน้อย ไม่ควรใหญ่โตอย่างรวดเร็ว หรือมีปริมาณผู้เข้ารับอบรมมากเกิน

ภูมิหลัง

        เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2528 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริ กับหม่อมเจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธ์ องคมนตรี และนายสุเมธ ตันติเวชกุล ผู้อำนวยการสำนักงาน กปร. ให้ร่วมพิจารณาจัดตั้งสถานฝึกอบรมเยาวชนเกษตร โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้
      1. อยากให้วัดมีบทบาทแบบดั้งเดิม เป็นศูนย์รวมศรัทธาของชุมชนให้ชาวบ้านมาพึ่งได้
      2. โครงการวัดญาณฯ นี้ ควรมีโรงพยาบาลและโรงเรียน หากไม่จัดตั้งโรงเรียนก็ควรตั้งเป็นศูนย์เยาวชนเกษตรแทน โดยเอาลูกศิษย์วัดมาฝึกอบรมวิชาหาความรู้ เพื่อต่อไปจะได้นำไปประกอบอาชีพได้ และในเวลาว่างก็มาปรนนิบัตรพระ และจะได้รับการอบรมด้านศีลธรรมควบคู่ไปด้วย
     3. เมื่อมีการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก (Eastern Seaboard) แล้วความเจริญทางด้านวัตถุจะเข้ามามาก วัดญาณฯ นี้จะเป็นแหล่งสร้างความเจริญทางจิตใจมิให้เสื่อมโทรมไปด้วย
     4. ให้หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ร่วมกันจัดทำแผนงานฝึกอบรมเยาวชนเกษตรในพื้นที่วัดญาณสังวรารามวรมหาวิหาร ในชั้นต้นให้จัดหาเยาวชนเข้ารับการฝึกอบรม ซึ่งควรจะเป็นลูกศิษย์วัด
        หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2528 ณ วัดบวรนิเวศวิหาร สมเด็จพระญาณสังวรได้เชิญหม่อมเจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) และอาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์บางเขน ประชุมร่วมกัน และที่ประชุมก็ได้มอบหมายให้สำนักงาน กปร. รับไปพิจารณาจัดทำแผนงานจัดตั้งสถานฝึกอบรมเยาชนเกษตร
        ต่อมาก็ได้จัดให้มีการประชุมขึ้นอีก 2 ครั้ง คือ เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2529 และ 11 กุมภาพันธ์ 2529 โดยได้มีการจัดให้มีการประชุมภายในร่วมกับหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ในการจัดตั้งสถานฝึกอบรมเยาวชนเกษตรขึ้น ณ ห้องกุฏิท่านสมเด็จพระญาณสังวร วัดบวรนิเวศวิหาร โดยมีสมเด็จพระญาณสังวร ทรงเป็นประธานในที่ประชุม ในการประชุมทั้ง 2 ครั้งดังกล่าว เป็นการประชุมชี้แจงถึงความเป็นมาของศูนย์ฝึกอบรม และบทบาทของแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกรมการศึกษานอกโรงเรียน ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงานเกี่ยวกับศูนย์อบรมเยวชนเกษตรโดยตรง และก็ได้มีการมอบหมายให้แต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไปศึกษาในรายละเอียดในการจัดทำแผนงานและงบประมาณในการดำเนินงานต่อไป
        ในปี 2528 สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) ได้จัดสรรงบประมาณให้แก่กรมชลประทานก่อสร้างอาคารหอพัก ชาย-หญิง จำนวน 2 หลัง อาคารหอประชุมและอเนกประสงค์ 1 หลัง ในพื้นที่ดินของวัดญาณสังวรารามวรมหาวิหาร ด้านหลังโรงพยาบาลวัดญาณสังวราราม จำนวน 60 ไร่ เพื่อจัดเป็นแปลงฝึกหัดและแปลงสาธิต
        ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2529 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์บางเขน วิทยาลัยเกษตรกรรมชลบุรี วิทยาลัยเทคนิคชลบุรี และกรมการศึกษานอกโรงเรียนได้ร่วมกันจัดทำหลักสูตรและฝึกอบรมนักศึกษารุ่นแรกจำนวน 7 คน โดยมอบให้กรมการศึกษานอกโรงเรียน โดยศูนย์ฝึกและพัฒนาอาชีพราษฎรไทยบริเวณชายแดนไทยจังหวัดปราจีนบุรี โดยมี ดร.กล้า สมตระกูล ผู้อำนวยการศูนย์ และนายสมศักดิ์ พดด้วง หัวหน้าฝ่ายวิชาเกษตรกรรมเป็นผู้อำนวยการฝึก